มิตรแท้ มิตรเทียม

เมื่อมั่งมี มากมาย มิตรหมายมอง

เมื่อมัวหมอง มิตรมองเหมือนหมูหมา

เมื่อไม่มี มิตรเมิน ไม่มองมา

เมื่อมอด ม้วยหมูหมา ไม่มามอง

 

คนที่จะคบหา (มิตรแท้ – มิตรเทียม)
การคบเพื่อนเป็นสิ่งสำคัญ มีผลต่อความเจริญก้าวหน้าและความเสื่อมของชีวิตอย่างมาก

จึงควรทราบหลักธรรมที่เกี่ยวกับเรื่องมิตรที่เป็นข้อสำคัญๆไว้

จะแสดงเรื่องคนที่ควรคบกับคนที่ไม่ควรคบ

และหลักปฏิบัติต่อกันระหว่างมิตรสหายดังต่อไปนี้

ก.มิตรเทียม พึงรู้จักมิตรเทียม หรือศัตรูในร่างของมิตร (มิตรปฏิรูปก์) 4 ประเภทดังนี้

1.คนปอกลอก ขนเอาของเพื่อนไปถ่ายเดียว มี 4ลักษณะ
     1. คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
     2. ยอมเสียน้อย โดยหวังจะเอาให้มาก
     3. ตัวมีภัย จึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน
     4. คบเพื่อน เพราะเห็นแก่ประโยชน์

2. คนดีแต่พูด(วจีบรม) มีลักษณะ 4
     1. ดีแต่ยกหมดของหมดแล้วมาปราศรัย
     2. ดีแต่อ้างของยังไม่มีมาปราศรัย
     3.สงเคราะห์ด้วยสิ่งที่หาประโยชน์มิได้
     4. เมื่อเพื่อนมีกิจ อ้างแต่เหตุขัดข้อง

3. คนหัวประจบ(อนุปิยภาณี) มีลักษณะ 4
     1. จะทำชั่วก็เออออ
     2. จะทำดีก็เออออ
     3. ต่อหน้าสรรเสริญ
     4. ลับหลังนินทา

4. คนชวนฉิบหาย(อปายสหาย) มีลักษณะ 4
     1. คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา
     2. คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน
     3. คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น
     4. คอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน

ข. มิตรแท้ พึงรู้จักมิตรแท้ หรือมิตรด้วยใจจริง(สุหทมิตร) 4 ประเภทดังนี้

1. มิตรอุปการะ(อุปการก์) มีลักษณะ 4
     1. เพื่อนประมาท ช่วยรักษาเพื่อน
     2. เพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สินของเพื่อน
     3. เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้
     4. มีกิจจำเป็น ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก

2. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์(สมานสุขทุกข์) มีลักษณะ 4
     1. บอกความลับแก่เพื่อน
     2. รักษาความลับของเพื่อน
     3. มีภัยอันตรายไม่ละทิ้ง
     4. แม้ชีวิตก็สละให้ได้

3. มิตรแนะนำประโยชน์(อัตถักขายี) มีลักษณะ 4
     1. จะทำชั่วเสียหาย คอยห้ามปรามไว้
     2. แนะนำสนับสนุนให้ตั้งอยู่ในความดี
     3. ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ไม่เคยได้รู้ได้ฟัง
     4. บอกทางสุขทางสวรรค์ให้

4. มิตรที่มีใจรัก(อนุกัมปี) มีลักษณะ 4
     1. เพื่อนมีทุกข์ พลอยไม่สบายใจ (ทุกข์ๆ ด้วย)
     2. เพื่อนมีสุข พลอยแช่มชื่นยินดี (สุขๆ ด้วย)
     3. เขาติเตียนเพื่อน ช่วยยับยั้งแก้ไข
     4. เขาสรรเสริญเพื่อน ช่วยพูดเสริมสนับสนุน

ค. มิตรต่อมิตร พึงสงเคราะห์อนุเคราะห์กัน ตามหลักปฏิบัติในฐานะที่เป็นเสมือนทิศเบื้องซ้าย ดังนี้
พึงปฏิบัติต่อมิตรสหาย ดังนี้
1. เผื่อแผ่แบ่งปัน
2. พูดจามีน้ำใจ
3. ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
4. มีตนเสมอ ร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วย
5. ซื่อสัตย์จริงใจ

มิตรสหายอนุเคราะห์ตอบ ดังนี้
1. เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาป้องกัน
2. เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรัษาทรัพย์สมบัติของเพื่อน
3. ในคราวมีภัย เป็นที่พึ่งได้
4. ไม่ละทิ้งในยามทุกข์ยาก
5. นับถือตลอดถึงวงศ์ญาติของมิตร

จาก หนังสือธรรมนูญชิวิต พุทธจรยธรรมเพื่อชิวิตที่ดีงาม ของ พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

 

 

กัลยาณมิตรธรรม ๗ (องค์คุณของกัลยาณมิตร, คุณสมบัติของมิตรดีหรือมิตรแท้ ) 


คือท่านที่คบหรือเข้าหาแล้วจะเป็นเหตุให้เกิดความดีงามและความเจริญ ในที่นี้มุ่งเอามิตรประเภทครูหรือพี่เลี้ยงเป็นสำคัญ — qualities of a good friend)

๑. ปิโย (น่ารัก ในฐานเป็นที่สบายใจและสนิทสนม ชวนให้อยากเข้าไปปรึกษา ไต่ถาม — lovable; endearing)

๒. ครุ (น่าเคารพ ในฐานประพฤติสมควรแก่ฐานะ ให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งใจ และปลอดภัย
— estimable; respectable; venerable)

๓. ภาวนีโย (น่าเจริญใจ หรือน่ายกย่อง ในฐานทรงคุณคือความรู้และภูมิปัญญาแท้จริง ทั้งเป็นผู้ฝึกอบรมและปรับปรุงตนอยู่เสมอ ควรเอาอย่าง ทำให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยซาบซึ้งภูมิใจ
— adorable; cultured; emulable)

๔. วตฺตา จ (รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไรอย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี — being a counsellor)

๕. วจนกฺขโม
(อดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถามคำเสนอแนะวิพากษ์วิจารณ์ อดทน ฟังได้ไม่เบื่อ ไม่ฉุนเฉียว
— being a patient listener)

๖. คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา (แถลงเรื่องล้ำลึกได้ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ให้เข้าใจ และให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป
— able to deliver deep discourses or to treat profound subjects)

๗. โน จฏฺาเน นิโยชเย (ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่แนะนำในเรื่องเหลวไหล หรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย
— never exhorting groundlessly; not leading or spurring on to a useless end)

A.IV.31. องฺ.สตฺตก.๒๓/๓๔/๓๓.

ข้อความนี้ถูกเขียนใน ไม่มีหมวดหมู่ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

1 ตอบกลับที่ มิตรแท้ มิตรเทียม

  1. ปลาทองขี้ลืม พูดว่า:

    อ่านมา 3 รอบแล้ว ยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ยาก ไม่เหมาะที่จะนำมาบทความนี้มาใช้วิเคราะห์มิตรเป็นรายๆ ไป ตราบใดที่เรายังมีอายตนะภายในทั้ง 6 ที่ปรุงแต่งไปตามที่เราอยากให้เป็น เราเองก็ไม่ควรตัดสินใครได้ แม้กระทั่งตัดสินว่าตัวเองเป็นมิตรประเภทไหน ต่อผู้ไหนบ้างแต่บทความนี้มีความหมายในแง่ของการนำไปเป็นข้อมูลในการให้น้ำหนักในแง่ของความไว้วางใจได้ของมิตร………………………………………………………………..อ่านถึงเรื่องกัลยาณมิตรธรรม 7 พบว่ามีมิตรที่เข้าข่ายเป็นครู 1 คน จริงๆ อาจมีมากกว่านั้น แต่ต้องยอมรับว่า 1 คนนี้ ก็มีค่าเกินกว่าจะประเมินได้ …………………………………………………….แก้วที่เติมน้ำไม่เคยเต็ม…..เหมือนคนที่กระหายใคร่จะเรียนรู้อย่างไม่จบสิ้น…..อาจารย์คงจะเหนื่อยกับการเติมน้ำให้แก้วใบนั้น แต่อย่างน้อย ก็คงไม่เหนื่อยเปล่าเสียทีเดียว แต่อยากถามว่า หากอาจารย์ต้องเติมน้ำให้กับแก้วที่มีน้ำเต็มแก้วอยู่เสมอ (ด้วยเมตตาจำเป็นต้องเติมให้ได้) จะต้องทำอย่างไร ….จึงจะเติมน้ำใหม่ได้สำเร็จ โดยที่น้ำไม่ล้นแก้วออกมาให้เสียดายไปเปล่าๆ ถามจริงๆ ค่ะ อยากรู้จริงๆ

ส่งความเห็นที่ ปลาทองขี้ลืม ยกเลิกการตอบ